"ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยชุมชนบ้านคลองผ่าน"
"ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยชุมชนบ้านคลองผ่าน"
วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กองสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา/มูลนิธิชุมชนสงขลา และเทศบาลตำบลคลองแงะ
จัดเวทีประชาคมรับร่างธรรมนูญชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ที่มีการดำเนินการสร้างข้อตกลงในส่วนของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดลัอม ณ มัสยิดบ้านใหม่คลองแงะ
โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยกลุ่มเสี่ยงอายุ 35-59 จำนวน 100 คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สสอ. ทต.คลองแงะ อบจ. คณะทำงานอีก 40 คน และมีนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลคลองแงะเป็นประธานเปิดการประชุม
ชุมชนบ้านคลองผ่านอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีประชากรทั้งสิ้น 912 คน ชาย 447 คน หญิง 465 คน 263 ครัวเรือน มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 100 ปี(ตามอายุมัสยิด) ในอดีตเมื่อ 2526 มีการจัดตั้งหมู่บ้าน ในเวลานั้นเรียกันทั่วไปว่าบ้านคลองแงะหรือบ้านท่าโพธิ์ ชุมชนมีมติตั้งชื่อมาเป็นบ้านคลองผ่าน โดยมีคลองอู่ตะเภาเป็นลำน้ำหลักที่ไหลผ่าน สมาชิกในชุมชนทั้งหมดเป็นมุสลิม ตระกูลเก่าแก่คือ หล๊ะหมูด หมัดโล๊ะ กาเหย็ม อาชีพหลักคือเกษตรกร(กรีดยาง)รับจ้าง ค้าขายในตลาดคลองแงะ
สภาพปัญหาโดยรวมที่คัดกรองจากกลุ่มเสี่ยงอายุ 35-59 ปีจำนวน 100 คน ผ่านระบบกลุ่มแอพพลิเคชั่น iMed@home ประกอบด้วยด้านสุขภาพ ชุมชนส่วนหนึ่งไม่เคยตรวจสุขภาพ เริ่มมีภาวะโรคเรื้อรัง มีน้ำหนักเกิน มีปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงาน ไม่ได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารหวานมันเค็ม ฟันผุ มีความเครียดและนอนไม่เพียงพอจากการกรีดยาง การค้าขาย การดูแลผู้ป่วย และค่าใช้จ่ายการศึกษา ด้านเศรษฐกิจพบว่ามีหนี้สินและต้องอดออม ไม่มีอาชีพเสริม ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่มีการออม ด้านสังคมพบมีผู้ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งทางสังคม ปัญหายาเสพติด ด้านสภาพแวดล้อมมีปัญหาสภาพบ้านต้องปรับปรุงซ่อมแซม และการจัดการขยะ
ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยชุมชนบ้านคลองผ่าน ที่ประชุมได้ผ่านการรับรอง ประกอบด้วยแนวทางดังนี้
วิสัยทัศน์ ชุมชนดูแลสุขภาพตนเอง ลดโรคเรื้อรัง หมดหนี้ มีการออม มีงานสร้างรายได้ครัวเรือน อากาศดี แปลงขยะเป็นรายได้ มีความรักเกื้อกูลสามัคคี
ระยะเวลาดำเนินการ ปีพ.ศ.2567-2671
โดยมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้
1.ด้านสุขภาพ
เป้าหมาย ส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย สามารถรวมกลุ่มในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพร่วมกัน
ข้อตกลงร่วม
1.ทต.คลองแงะ อสม. และชุมชนบ้านคลองผ่าน ร่วมพัฒนาแกนนำและคณะทำงาน
1.1 สร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง การดื่มน้ำกระท่อมแบบปลอดภัย การออกกำลังกายที่เหมาะสม การผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด การดูแลสุขภาพในช่องปาก การลดน้ำหนัก การพักผ่อนและนอนหลับ
1.2 ให้ความรู้เด็กและเยาวชน(โทษของขนมหวาน/เครื่องดื่ม) กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง
1.3 รณรงค์สร้างความตระหนัก ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ คน เสียงตามสาย ป้ายความรู้ มัสยิด/วัด โรงเรียน
1.4 มีทีมสหวิชาชีพ ช่วยเหลือกลุ่มป่วยในด้านสุขภาพ(โรคเรื้อรัง/เครียด) เศรษฐกิจ(มีหนี้สินและรายได้) สังคม(ไร้บ้านอยู่) ลงเยี่ยมผู้ป่วยเดือนละครั้ง
1.5 มีนักจิตเวชจากศูนย์อนามัย/รพ.สะเดา ร่วมกับทต.คลองแงะ เปิดจุดหรือศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตในชุมชน
1.6 จัดทีมและสมาชิกในระบบกลุ่ม iMed@home ให้มีแกนนำชุมชน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเทศบาลตำบลคลองแงะ ภาคีเครือข่าย ประสานการทำงานในการดูแลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย
2.ส่งเสริมการรวมกลุ่มออกกำลังกาย ทุกเย็นมีการรวมตัวกันที่สวนสาธารณะ มีรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย อาทิ รำกระบอง โยคะ ปั่นจักรยาน แอร์โรบิค ตะกร้อ มีวันออกกำลังกายประจำเดือน
3.ทต.คลองแงะ ชุมชน ร่วมกันมีกิจกรรม “ห้องเรียนเตรียมรองรับสังคมสูงวัย” เดือนละครั้ง สมาชิกมีทั้ง 3 วัย ร่วมกันคัดกรองสุขภาวะ 4 มิติ ปรับพฤติกรรมการบริโภค ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง สันทนาการสร้างความรัก ความผูกพัน ความเข้าใจต่อกัน
4.ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรและใช้สมุนไพรในครัวเรือน มาใช้ในการดูแลสุขภาพ
• ใช้สมุนไพรพื้นบ้านมาต้มดื่มลดเบาหวาน ได้แก่ ต้นหม่อนและใบเตย ใบย่านางและมะระขี้นกปั่น
• สายตามองเห็นไม่ชัดเจน ใช้ดอกดาวเรือน ผักบุ้งแดง หรือดอกอัญชัน ต้มน้ำดื่ม
• มีอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ ใช้ต้นผักเสี้ยนผี ทำหมอนหนุนนอน
• มีปัญหากรดไหลย้อน นำใบกระเพรามาต้มน้ำดื่ม
• ลดไขมันในเลือด ใช้ดอกกระเจี้ยบ มะตูม และพุทราจีน
• ลดน้ำตาลในเลือด ใช้ใบเตยและใบมะยม ใบเตยบำรุงหัวใจ ใบมะยมเป็นตัวปรับสภาพตับอ่อนให้แข็งแรง
• ปวดฟัน ใช้ผักคราดหัวแหวนตำแล้วใส่ฟัน
• สมุนไพรลดการอยากบุหรี่ ได้แก่ โปร่งฟ้า-หญ้าดอกขาว-ดอกก้านพลู-ชะเอมเทศ บดผง ผสมน้ำผึ้งรวง
5.ทุกครัวเรือนปลูกผักไร้สารพิษเพื่อบริโภค “กินอาหารเป็นยา ไม่กินยาเป็นอาหาร กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา”
6.มีเมนูสุขภาพประจำครัวเรือน ลดการใช้ผงชูรสปรุงอาหาร ลดความหวาน มัน เค็ม เน้นการนึ่ง ลวก ต้ม มากกว่าทอด
7.งดเลี้ยงน้ำอัดลมในงานบุญ
8.ส่งเสริมตลาดปลอดภัย ร้านค้าต้นแบบที่ส่งเสริมเมนูชูสุขภาพ
9.สมาชิกในชุมชนนำหลักศาสนาการใช้ในชีวิต ลดละเลิกสูบบุหรี่หรือสุราและเสพติดทุกประเภท
10.ประสานรพ.สะเดามาคัดกรองผู้สูงอายุที่มีปัญหาการมองเห็น การได้ยิน
2.ด้านเศษฐกิจ
เป้าหมาย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองบนฐานวิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
ข้อตกลงร่วม
1.สมาชิกในชุมชนส่งเสริมการบริโภคสินค้าชุมชน ครัวชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน
2.กองทุนออมทรัพย์ชุมชน ร่วมกับสหกรณ์อันฮูดา ส่งเสริมการออมให้กับสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชน รวมถึงมีการสร้างแรงจูงใจ มอบประกาศนียบัตรหรือรางวัลให้กับสมาชิกที่มีพฤติกรรมที่ดี ลดความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยง
3.ทต.คลองแงะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ผักพื้นบ้าน สมุนไพร พืชอัตลักษณ์ประจำชุมชน ได้แก่ ทุเรียนพื้นบ้าน เพิ่มมูลค่าผ่านการท่องเที่ยวชุมชน
4.ชุมชนมีกองทุนหมู่บ้าน ลดภาระค่าใช้จ่าย
5.ชุมชนแผนพัฒนาอาชีพเสริม อาทิ นวดแพทย์แผนไทย กลุ่มสตรีทำผ้าคลุม(ฮิญาบ) การปักเย็บเสื้อผ้า
3.ด้านสังคม
เป้าหมาย สร้างความสัมพันธ์ในครัวเรือนและชุมชน เพิ่มความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือกันและกัน
ข้อตกลงร่วม
1.สำรวจคลังภูมิปัญญา ว่าใครมีความสามารถใด นำมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
2.จัดตั้งกลุ่มเพื่อนดูแลเพื่อน เป็นที่ปรึกษากันและกัน
3.ส่งเสริมกิจกรรมสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคนต่างวัย และสมาชิกในครอบครัว
4.ให้มีกองทุนเพื่อการศึกษา
5.รณรงค์ให้ความรู้เด็กและเยาวชนถึงโทษของยาเสพติด มีทักษะการปฎิเสธ
6.ให้รางวัลบุคคลต้นแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
4.ด้านสภาพแวดล้อม
เป้าหมาย ป้องกันการพลัดตกหกล้ม ของสมาชิกในครัวเรือนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ข้อตกลงร่วม
1.ทุกครัวเรือนปรับสภาพบ้าน เพิ่มราวจับในห้องน้ำ มีแผ่นกันลื่น เพิ่มทางลาด ลดทางต่างระดับ
2.ทต.คลองแงะ ร่วมกับชุมชนปรับสภาพบ้าน คัดกรองและจำแนกประเภท
1)กรณีบ้านคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง...ประสานของบจากพมจ. อบจ. ปรับภาพบ้าน
2)บ้านใหม่ ก่อนสร้างบ้านควรมีแบบแปลนบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุในอนาคตและกองช่างทต.คลองแงะระบุเป็นข้อกำหนดเงื่อนไขในการสร้างบ้านแต่ละหลัง แต่ละโครงการ
3)กรณีบ้านที่สร้างมานานแล้ว แต่ละบ้านสำรวจและวางแผนปรับสภาพบ้านรวบรวมข้อมูลจุดที่ต้องการเพิ่มราวจับ สิ่งอำนวยความสะดวก จัดให้มีกองทุน/เงินกู้เพื่อปรับสภาพบ้าน ร่วมกันจัดซื้อเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทต.คลองแงะช่วยประสานหาช่างหรือสนับสนุนให้มีช่างชุมชนมาดำเนินการ
3.ให้ความรู้ในการคัดแยกขยะที่สามารถเปลี่ยนเป็นรายได้
4.ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่
5.ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องหมา-แมวจรจัด จับทำหมัน และชุมชนงดให้อาหาร
5.ด้านการบริหารจัดการ
เป้าหมาย มีกลไกขับเคลื่อนธรรมนูญหรือข้อตกลงในชุมชน มีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ
ข้อตกลงร่วม การจัดทำธรรมนูญฯนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนรองรับสังคมสูงวัย ทต.คลองแงะ และอาศัยกลไกคณะทำงานที่มีการประกาศคำสั่งร่วมดำเนินการ ขยายผลไปยังชุมชนอื่น และมีการติดตามประเมินผลสม่ำเสมอ
Relate topics
- แม้โรงพยาบาลจะจนลง เราจะไม่ลดคุณภาพของการรักษาพยาบาลอย่างแน่นอน
- "ภาคีพลเมืองสงขลาร่วมปรับสภาพบ้านเพื่อคนพิการติดเตียงและกลุ่มเปราะบาง"
- เวทีเชื่อมโยงพัฒนากลไกเครือข่ายผู้ใช้น้ำและเกษตรกรใน พื้นที่ลุ่มน้ำคลองต่ำ คลองวาด
- "ประชุมขับเคลื่อนบูรณาการแผนรองรับสังคมสูงวัยตำบลแค"
- "4 PW สงขลา" การพัฒนาระบบข้อมูลกลาง จ.สงขลาระยะที่ 3
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนกรกฎาคม 2567
- ความร่วมมือในการเป็นพื้นที่เรียนรู้นักศึกษาต่างประเทศ หลักสูตรปริญญาโท
- "สุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมือง" กรณีชุมชนแหลมสนอ่อน สงขลา
- "เกษตรต้นทุนต่ำ"
- ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยชุมชนย่านเมืองเก่า ทน.สงขลาคัดกรองสุขภาวะรายคนติดตามผลการปรับพฤติกรรมขับเคลื่อนชุมชน 4 มิติ(สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ)