ระบบข้อมูลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

by punyha @15 ม.ค. 62 08:42 ( IP : 171...185 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1836x1836 pixel , 99,461 bytes.
  • photo  , 960x960 pixel , 83,756 bytes.
  • photo  , 1836x1836 pixel , 192,556 bytes.
  • photo  , 1836x1836 pixel , 174,266 bytes.
  • photo  , 1836x1836 pixel , 203,139 bytes.

ระบบข้อมูลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา

ทุกคนรู้ถึงความสำคัญของข้อมูล แต่ไฉนใช้ข้อมูลหรือความรู้และปัญญามาประกอบการทำงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ๑.เรามีแต่ข้อมูลพื้นฐาน ไม่มีข้อมูลเชิงลึกที่มีรายละเอียดเชิงยุทธศาสตร์ที่สะท้อนความเป็นจริง

๒.ต่างคนต่างทำ มีวัตถุประสงค์ วิธีการ กลุ่มเป้าหมาย การใช้ประโยชน์ที่แตกต่างเป็นไปตามระบบการทำงานที่แยกส่วนจากกัน อยู่ในองค์กรเดียวกันแต่ไม่หารือกัน ไม่ทำงานด้วยกัน

๓.คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ โดยเฉพาะระบบรวมศูนย์คนทำงานได้แต่ส่งต่อข้อมูลตามคำสั่งที่ไม่อาจรู้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร และจะได้ประโยชน์จากข้อมูลตรงไหน มิหนำซ้ำ ข้อมูลถูกผู้บริหารนำไปบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของตนก็เห็นอยู่บ่อยๆ

๔.ข้อมูลที่ทำตามภาระงานประจำ ถึงเวลาต้องทำ ทำเพื่อส่ง "การบ้าน" ตามภาระกิจ จริงบ้าง โกหกบ้าง ก็ไม่เป็นไร

๕.ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน

๖.ข้อมูลหรือความรู้นั้นมาจากต่างถิ่น ต่างบริบท ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าสามารถปรับใช้กับพื้นที่ได้ พูดง่ายๆ "ความรู้" กับ "ความจริง" ไม่ไปด้วยกัน ปัญญาเลยไม่เกิด

๗.ระบบประเมินติดตามผลห่วยแตก ไม่สามารถตรวจสอบความจริงกับข้อมูลลวงออกจากกัน

๘.ข้อมูลเป็นกระบวนการหาใช่แค่output จำเป็นที่จะต้องหลอมรวมสหวิทยา วิเคราะห์ปัจจัยนานา นำผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียมาทำงานร่วมกัน นำคนทำงานมาเจอกัน สร้างความรับรู้และความรู้สึกเป็นเจ้าของตั้งแต่แรก แล้วมุ่งการแก้ปัญหาเชิงระบบซึ่งที่สุดของข้อมูลจะสะท้อนปัญหาที่แท้จริงออกมา ซึ่งก็ทำไม่ได้ เพราะมีแต่ต้องการผลระยะสั้น ไม่ต้องการผลระยะยาวหรือการปรับเปลี่ยนเชิงระบบ

เหล่านี้ ทำให้ผมคิดต่อว่าน่าจะมีความไม่รู้บางอย่างปิดบังซ่อนไว้ โชคร้ายที่สังคมไทยเราเต็มไปด้วยความสัมพันธู์เชิงอำนาจ รวมศูนย์ เชื่อผู้นำ(แบบวีระบุรุษขี่ม้าขาว) ใครเสียงดังสังคมก็ฟังคนนั้น มีแต่ "หลักกู" และศรีธนญชัยกันตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ ความไม่เอาไหนของผู้นำบวกกับความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างเช่นนี้ส่งผลไปถึงการทำงานในแทบทุกวงการ น่าสงสารพอๆกัน ภายใต้โครงสร้างที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนที่ครอบงำเราอยู่ทำให้การใช้ความรู้เพื่อการแก้ปัญหาทำไม่ได้ในทางปฎิบัติ ด้วยต่างมองไม่เห็นปัญหารากฐาน(หรือมองเห็นแต่เลือกปิดตาไว้ข้างหนึ่งก็เป็นได้) ภายใต้โครงสร้างอันใหญ่โตอุ้ยอ้ายเช่นนี้จะปรับตัวอย่างไร ผลของการละเลยหลักการพื้นฐานการอยู่ร่วมกันอย่างยาวนานทำให้เราเห็นแต่ปรากฏการณ์ปลายยอดที่เลวร้าย ไม่เห็นทางออกและต่างเมินเฉยต่อสภาพพื้นฐานที่ผุกร่อน เน่าเปื่อย ฐานพระเจดีย์ที่ผุพังเช่นนี้เมื่อถึงเวลา "เปลี่ยนผ่าน" ไม่แปลกที่เราจะบื้อตื้อมืดบอดต่อการหาทางออก

สุดท้ายเราก็ยอมแพ้ระบบห่วยๆที่เป็นอยู่ เลือกที่จะทิ้งลมหายใจอยู่ไปวันๆ

เบื้องหลังคนก็คือสังคม เบื้องหลังสังคมคือวิถีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเรา ค่อยๆสะสมสร้างวัฒนธรรมขององค์กรหรือสังคมขึ้นมาจนกระทั่ง "แข็งตัว" ยากจะเปลี่ยนแปลง คนที่อยู่ก็ต่างหวาดกลัวและต่อต้าน เมื่อละเลยการสร้างพื้นฐานตั้งแต่ความสัมพันธ์ ความเข้าใจ การเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย ความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ หลักการพื้นฐานเหล่านี้ถูกมองข้ามมาตลอด มัวแต่ไปจมอยู่กับการเร่งรีบต้องการผลสำเร็จที่เป็นภาพมายาระยะสั้น งานข้อมูลจึงถูกบิดเบือนไปในลักษณะที่เห็น

จนวันหนึ่งสังคมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีทำให้โลกเปิดกว้าง เต็มไปด้วยโอกาสบนฐานความซับซ้อนหลากหลายกระจัดกระจาย และเปี่ยมไปด้วยพลวัตร พลังความเปลี่ยนแปลงที่คุกคามรายวันเช่นนี้ทำให้วิธีคิด วิธีการทำงานของเราจะต้องปรับตัวตาม แต่เรายังขาดทักษะการหยั่งถึง ขาดความตระหนัก มองไม่เห็นรากฐานแห่งปัญหาและสะสมความรู้ที่จะรับมือ ภาวะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ด้านหนึ่งเอื้อให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยทวีความสำคัญมากขึ้นด้วยมีช่องทางได้เปล่งเสียงของตน คนที่เคยเสียงดังใช่ว่าจะมีคนฟัง(เพราะสังคมเริ่มรู้ทันว่าไม่ใช่ของจริง) แต่ละคนก็เสียงดังไม่ต่างกัน ไม่มีใครฟังใคร แถมความต้องการยังขัดแย้งกันอีกด้วย เหตุเพราะได้รับผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน มีแต่ความต้องการอันยากจะหาข้อยุติ ภาวะฝุ่นตลบแห่งเสียงของความต้องการเช่นนี้ท้าทายต่อปัญหาการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมองเห็นตัวเอง เริ่มจากกะเทาะกำแพงในใจ ทุบกำแพงที่ขวางกั้นเรากับคนอื่น มองออกไปจากเส้นรอบวงมากกว่าที่จะมองจากเราเป็นศูนย์กลาง ลดท่าที "ดูถูก" เหยียดหยามคนที่คิดต่าง เราจะพบว่าบ่อยครั้งที่เราถกโต้กัน วิวาทกัน ทะเลาะกันหน้าดำหน้าแดงไม่ยอมใคร กลายเป็นไก่ในเข่งที่จิกกัดกันเอง ลืมมองไปว่ามีปัญหาระดับโครงสร้างที่กดทับเราอยู่ มี "ไอ้โม่ง" ลึกลับตัวเบ้บีบบังคับให้เราเป็นศัตรูกัน

ถอยกันคนละก้าว "ฟัง" และ "เข้าใจ" คนอื่นให้มาก

ใช้ "ใจ" เชื่อม "ใจ" กันให้มากขึ้น มองเป้าหมายระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

ใช้หัวใจมากกว่าสมอง

เรื่องนี้ผมคิดต่อจากวงหารือการทำงานเรื่องข้อมูลเพื่อผู้สูงอายุ คนพิการที่เทศบาลเมืองคอหงส์ หาดใหญ่

คิดไปคิดมา ทำไมจากข้อมูลดันมาออก "ไอ้โม่ง" ไปได้!

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน