ถอดบทเรียนสู่ปีที่ ๑๑

by punyha @19 ก.ย. 63 20:18 ( IP : 124...102 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 640x1315 pixel , 66,149 bytes.

ถอดบทเรียนสู่ปีที่ ๑๑ การทำงานมูลนิธิชุมชนสงขลา

ชาคริต โภชะเรือง เขียน

หลายปีมานี้ผมมีโอกาสทำงานกับเครือข่ายและผู้คนมากหน้าจริงๆ นับแต่งานของมูลนิธิชุมชนสงขลา ก็มีทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ภาครัฐ ทำงานด้วยกัน

ปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ ๑๑ แล้ว

ในส่วนงานของเครือข่ายสังคมระดับจังหวัดก็มีทั้งเครือข่ายเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ เชิงองค์กร ที่มีวัฒนธรรมการทำงาน ความคิด ความเชื่อที่แตกต่าง ทั้งเชิงอำนาจ เชิงแนวราบ ทั้งงานร้อน งานเย็น หลากสถานภาพยากดีมีจน รียกว่าคบได้หมด

งานเขตก็ไม่ต่างกัน ทั้งข้ามจังหวัด ข้ามวิถี ข้ามประเด็น  นี่ก็ใกล้จะครบ ๔ ปีแล้ว ประสบการณ์เช่นนี้นับว่าหาได้ยาก
ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้โอกาส อย่างไรก็ดี ที่ว่ามาใช่ว่าจะอวดโอ่ว่าทำได้ดี สำเร็จทุกอย่าง ที่ล้มเหลวก็ไม่น้อย แต่ก็เชื่อว่าพอจะมีคุณค่าอยู่บ้าง ก็เลยพยายามถอดตัวเอง หาบทเรียนการทำงานไปด้วย พบว่ามีความรู้บางอย่าง และอยากจะแบ่งปันนั่นคือ การไม่ทำซ้ำแต่หันมาเติมช่องว่างที่มี และเป็นที่ต้องการ บนฐานความเข้าใจ

๑.ทุกคนต่างต้องการพื้นที่ของตน การจะปฎิเสธใครสักคน สักองค์กร ไม่ใช่เรื่องที่สมควร หากว่าเขาเป็น "ผู้เล่น" มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการมีส่วนร่วมของ "ผู้รับ" ด้วย ประเด็นสำคัญของข้อนี้ก็คือ ทุกคน/องค์กรต่างมองโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลมองออกมาทั้งสิ้น น้อยนักจะมองจากเส้นรอบวงเข้าไปหา
การถอยออกมาสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกัน จึงเป็นกลยุทธสำคัญ การปฎิเสธการมีอยู่ของแต่ละคนจึงเป็นที่มาของความขัดแย้ง

๒.ผู้เล่นใหม่ก็ต้องการสร้าง "ตัวตน" สร้างพื้นที่ของตัวเอง ผ่านการลองผิดลองถูก การทำตามคำสั่งสุดท้ายแล้วไม่อาจสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และความยั่งยืนได้ กิจกรรมจำนวนมากที่มีงบประมาณรองรับเป็นการทำซ้ำกับคนเดิม หน้าเดิม วิธีการเดิม กระทั่งกลายเป็นกิจกรรมสำเร็จรูป ไร้พลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง การสร้างรูปธรรมแบบครบวงจรจึงเป็นกลยุทธสำคัญ ควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง เปิดโอกาสให้กับคนใหม่ และยกระดับปรับพฤติกรรมคนเก่า เริ่มจากวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เชื่อมโยงถักทอมาร่วมขบวน

๓.เปลี่ยนผลงานเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ ภายใต้โครงสร้างที่รวมศูนย์ ระบบงบประมาณต้องปฎิรูปใหม่ ความเทอะทะของระบบ รวมไปถึงความรวดเร็วคล่องตัวของเอกชนและทุนใหญ่ ทำให้งานที่ทำกันของหน่วยงานเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นผลสำเร็จเชิงวัตถุมากกว่าความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ งานคุณภาพมักเกิดจากปัจเจก/ผุดบังเกิดมากกว่าเกิดจากระบบ เนื่องจากข้อจำกัดของวัฒนธรรมการทำงานที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นรองรับความเปลี่ยนแปลง ขาดการวิเคราะห์เชิงระบบ ขาดความต่อเนื่อง หวังผลระยะสั้น ติดขัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างของระบบงบประมาณ หัวใจการแก้ปัญหา จึงควรมีจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ การถักทอระหว่างแนวดิ่งเชิงอำนาจกับแนวระนาบใช้พื้นที่เป็นฐาน มีเจ้าภาพหลัก/รองที่สามารถสร้างความต่อเนื่อง มีระบบสนับสนุนที่ดีแบบครบวงจร ติดตามผลได้ชัดเจน

๔.ประสบการณ์ความสำเร็จสามารถเรียนรู้กันได้ ปรับตัวตามได้ การเรียนรู้จึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะช่วยฝ่าข้าม "กับดัก" การทำงาน โดยเฉพาะในยุคที่ผันผวนปรวนแปร หาความแน่นอนอะไรไม่ได้เช่นวันนี้ ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกองค์กร

ปีนี้ในช่วงโควิด ได้ถอดความรู้จากการปฎิบัติจากเครือข่ายจำนวนหนึ่ง จึงถือโอกาสนำมาเผยแพร่ในหนังสือผีเสื้อขยับปีกเล่ม ๘

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน