"ชุด Care set สงขลา"

  • photo  , 960x720 pixel , 87,621 bytes.
  • photo  , 960x467 pixel , 88,738 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 75,731 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 70,842 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 99,368 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 139,510 bytes.
  • photo  , 960x467 pixel , 74,554 bytes.

"ชุด Care set สงขลา"

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอก ๓ ยาวนานและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง มูลนิธิชุมชนสงขลาในฐานะองค์กรประชาสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่สงขลา จึงคิดหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบพัฒนาแนวทางที่เรียกว่า ชุด Care set ให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ โดยสรุปบทเรียนจากการช่วยเหลือระลอกแรก

เป้าหมาย ลดช่องว่างดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่มักจะตกหล่นจากระบบการช่วยเหลือของภาครัฐ ได้แก่ คนไทยไร้สิทธิ์ ไร้บัตร ประชากรต่างถิ่นแต่อาศัยในพื้นที่มายาวนาน กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง คนที่สังคมจะต้องช่วยเหลือดูแล

ด้านหนึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่ในสังคม อีกด้านพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วนมาร่วมมือกัน และกระตุ้นไปสู่การพัฒนาเชิงระบบ

ทั้งนี้มีขั้นตอนการดำเนินการสำคัญ ก็คือ

๑.ประสานเครือข่ายตำบลที่มีการดำเนินการช่วยกลุ่มเปราะบางทางสังคม หาพื้นที่ร่วมกิจกรรม ด้วยการรับสมัครพื้นที่ที่สนใจ นัดประชุมหารือร่วมกันเพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหา ได้มาทั้งสิ้น ๗ ตำบล จากนั้นเริ่มกิจกรรมด้วยการสำรวจความต้องการ บางตำบลใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดิมที่มีการสำรวจผ่าน iMed@home เช่น

กรณีตำบลคูหา ใช้ข้อมูลและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล ที่มีการคัดกรองและตรวจสอบร่วมกันหลายหน่วยงานในพื้นที่ คัดเลือกกลุ่มเป้่าหมายดังกล่าว ได้ ๓๘ ชุด ใช้ข้อมูลความต้องการนำมาจัดชุด Care set กรณีกลุ่มติดเตียงจะเน้นในส่วนผ้าอ้อมสำเร็จรูป กลุ่มช่วยตนเองได้เน้นข้าวสาร อาหารแห้ง

ตำบลบ่อยาง นำข้อมูลคนจนเมืองในระบบที่ผ่านการสำรวจคัดกลุ่มที่ไม่มีบัตร ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก ๓๐ คน บวกกับข้อมูลใหม่กรณีที่มีการเดินมาหาถึงศูนย์ประสานงาน

ตำบลโคกม่วง จัดระบบการช่วยเหลือทุกครัวเรือน คัดกรองมาได้ ๕๐ คนเติมเต็มงบกองทุนขยะเติมบุญ โดยเลือกให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ตำบลป่าขาด คัดกลุ่มที่ตกหล่นจากงบของท้องถิ่น ๓๒ คน จัดทำแบบสอบถาม เป็นต้น แต่ละตำบลจะจัดส่งข้อมูลความต้องการของตนมาให้มูลนิธิชุมชนสงขลา

๒.มูลนิธิชุมชนสงขลา ประมวลผลความต้องการ จำแนกประเภท ได้แก่ ข้าวสาร น้ำ บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช ขนม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป นมผง เป็นต้น แยกพื้นที่ ปริมาณความต้องการ จากนั้นประสานภาคเอกชน ได้แก่ ห้างเคแอนด์เค ขอซื้อในราคาพิเศษ โดยใช้งบประมาณที่ได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผ่านโครงการบูรณาการสร้างสุขภาพอนามัยภาคประชาชน ส่งข้อมูลความต้องการไปให้ ให้ทางเคแอนด์เคส่งใบเสนอราคา พร้อมระบุปริมาณการบรรจุต่อลัง/กล่อง/แพค และใบเสร็จถูกต้อง สื่อสารกลับไปยังตำบล ในบางอย่างที่ไม่สามารถจัดหาให้ได้ จะให้ทางพื้นที่จัดหาด้วยตนเอง แยกค่าใช้จ่ายออกมาต่างหาก

๓.นัดหมายรับสิ่งของทั้งหมด โดยแยกเป็นรายคำบลตามข้อมูลความต้องการ ให้ทางตำบลมารับของ ส่งมอบกันให้เรียบร้อย

๔.ตำบลเป้าหมาย ส่งมอบความช่วยเหลือผ่านชุด Care set ให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ โดยส่วนใหญ่ใช้ระบบทีมในการส่งมอบไปให้กลุ่มเป้าหมาย ผู้นำทั้งท้องถิ่น ท้องที่ รพ.สต. ลงไปมอบให้ถึงครัวเรือนและใช้โอกาสในการสื่อสารสถานการณ์โควิด แนวทางการรับมือ ความรู้ในการป้องกันไปในตัว บางพื้นที่เช่น ตำบลบ่อยาง จะให้กลุ่มเป้าหมายทยอยมารับด้วยตนเอง เพื่อเลี่ยงปัญหาความเสี่ยงจากการติดเชื้อ โดยรายงานภาพและกิจกรรมการส่งมอบในระบบเยี่ยมบ้านของ iMed@home ทำให้มีหลักฐานว่าได้ช่วยเหลือใครไปบ้าง

๕.สรุปบทเรียนการทำกิจกรรม นัดหมายทุกพื้นที่ประชุมสรุปบทเรียนเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกัน ข้อค้นพบสำคัญก็คือ ทุกพื้นที่ นำไปบูรณาการกับงบประมาณอื่นๆทั้งจากการบริจาค หรือจากงบของท้องถิ่น งบภาคเอกชน ภาคี เพื่อให้สามารถกระจายความช่วยเหลือไปได้อย่างครอบคลุม กรณีนี้หากท้องถิ่นที่เป็นตัวกลางสามารถใช้อำนาจหน้าที่อ้างอิงตามระเบียบที่มีมาเอื้อให้เกิดการช่วยเหลือประชาชน จะช่วยเติมเต็มช่องว่างที่มีได้มาก

กิจกรรมความช่วยเหลือเช่นนี้จะทำได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และยืดหยุ่นตามความเป็นจริง การช่วยเหลือที่ดีควรจะสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล สภาพแวดล้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่

บทบาทของภาคประชาสังคม จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของระบบได้มาก กรณีนี้ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การวางแผนการแก้ปัญหาของพื้นที่ รวมถึงนำเข้าระบบฐานข้อมูลกลางที่กำลังพัฒนาในระดับจังหวัด เข้าสู่ระบบการทำงานปกติต่อไป

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ หัวใจสำคัญที่สุดที่ทุกคนเห็นตรงกันและจะทำให้ลุล่วงไปได้ ก็คือ หากมี "ใจ" ที่จะดำเนินการ ทุกอย่างก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน