ชุมชนของคุณพร้อมรับมือน้ำท่วมมากแค่ไหน ?

by punyha @21 ธ.ค. 65 14:41 ( IP : 171...129 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , โครงการ SUCCESS
photo  , 960x539 pixel , 84,728 bytes.

ชุมชนของคุณ พร้อมรับมือน้ำท่วม มากแค่ไหน?

น้ำท่วมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย เรามักพบว่า ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม เนื่องจากไม่รู้ข้อมูลความเสี่ยง ไม่มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่ชัดเจน หรือประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่เป็นจริง

การรับมือกับสถานการณ์โดยทั่วไปมักพบว่า มีการช่วยเหลือโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น การแจกถุงยังชีพ การบริจาค การอพยพ ฯลฯ แต่มักจะประสบกับอุปสรรคระหว่างปฏิบัติงานมากมาย เช่น ความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง หรือไม่ตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบาง (คนชรา เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย ผู้พิการ ฯลฯ) ที่ต้องการความช่วยเหลือแบบเฉพาะ เป็นต้น

การปฏิบัติงานโดยหน่วยกู้ภัย/เจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานต่างๆ ก็มักพบอุปสรรค อาทิ ไม่มีข้อมูลความเสี่ยงภัยในพื้นที่ ไม่ทราบจำนวน/ตำแหน่งที่แน่ชัดของผู้ประสบภัย ไม่สามารถประสานงานกับคนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการ เป็นต้น

พื้นที่ใดมีความเสี่ยงภัยพิบัติ ประชาชนควรได้รับทราบข้อมูลความเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีข้อมูลในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ ควรมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าที่มีความเฉพาะเจาะจงเพื่อให้สามารถวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลที่จำเป็น ได้แก่

แผนที่ความเสี่ยงภัย (Disaster Risk map)
เป็นแผนที่ซึ่งระบุข้อมูลความเสี่ยงภัยพิบัติประเภทต่างๆ เช่น พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ดินถล่ม  แผ่นดินไหว ฯลฯ ได้จากการประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลการวิจัย การสำรวจ การวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนป้องกัน เตรียมความพร้อม การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน การค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการชดเชยและเยียวยา ฯลฯ โดยมีการจัดทำทั้งในเชิงวิชาการและแผนที่ทำมือที่มาจากการร่วมกันสำรวจโดยชุมชนและครัวเรือน

แผนที่ความเปราะบาง (Vulnerable Map)
เป็นแผนที่ซึ่งระบุข้อมูลความเปราะบาง ได้แก่ พื้นที่เปราะบาง (เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ  ลาดชัน ทางแคบ ทางต่างระดับ ฯลฯ) และกลุ่มเปราะบาง (คนชรา เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย ผู้พิการ ฯลฯ) เพื่อใช้ประกอบการวางแผนป้องกันเตรียมความพร้อม อพยพ ขนย้าย ค้นหา/กู้ภัย ฯลฯ ชุมชนควรมีการจัดทำและส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือโดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน

แผนชุมชนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ (Disaster Resilience Plan)
เป็นแผนดำเนินการเพื่อจัดการภัยพิบัติ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ ในแผนควรระบุขั้นตอนการดำเนินงาน การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ระยะเวลา ทรัพยากรและงบประมาณที่ต้องใช้ในช่วงเวลาต่างๆ โดยชุมชนควรจัดทำแผนเพื่อให้สามารถจัดการตนเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติและสามารถประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนของคุณพร้อมรับมือน้ำท่วม ได้แก่

ระบบการบริหารจัดการดีที่
ชุมชนที่มีความพร้อมและสามารถรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้จะต้องทำงานอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ มีแผนงาน มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งาน ฯลฯ

ความร่วมมือของคนในชุมชน
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างภัยพิบัติ ชุมชนที่มีอาสาสมัครในชุมชนมาร่วมกันทำงานจะทำให้เกิดทักษะ ประสบการณ์ และความสามัคคี

การสื่อสารข้อมูลความเสี่ยง (Risk communication)
ควรมีการให้ข้อมูลและความรู้ในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักในการเตรียมความพร้อม ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดภัย

ตัวอย่างชุมชนที่มีความพร้อมรับมือน้ำท่วม

แนวทางการดำเนินงานในลักษณะข้างต้น อย่างโครงการวิจัยเรื่อง "กระบวนการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยชุมชนเป็นฐาน" (Community Based Disaster Risk Management: CBDRM) พื้นที่กรณีศึกษา จังหวัดน่าน
โดย ดร.ปัณฑิตา ตันวัฒนะ นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหารหลักสูตร ความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ (Risk and Disaster Management: RDM)

แสดงให้เห็นว่าสามารถสร้างกระบวนการเพิ่มศักยภาพ (Capacity Building) ให้กับชุมชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้ ผ่านการจัดทำ

-แผนที่ความเสี่ยงภัย

-แผนที่ความเปราะบาง

-แผนชุมชนปลอดภัยรับมือน้ำท่วม

-การจัดตั้งกองทุนชุมชนเพื่อจัดการภัยพิบัติ

-การจัดตั้งกลุ่มชุมชนอาสารับมือภัยพิบัติ หรือ องค์กรชุมชนเพื่อจัดการภัยพิบัติ (Community Disaster Risk Management Organization: CDRMO)

โดยมุ่งหวังให้เกิดต้นแบบชุมชนที่สามารถบริหารจัดการตนเอง ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถรับมือ จัดการ ลดผลกระทบและฟื้นตัวจากภัยพิบัติ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่สนใจในการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมวิธีการหนึ่งที่อาศัยข้อมูลจากชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน

ผลผลิตจากการวิจัยดังกล่าว ทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับชุมชน ในการวางแผนรับมือน้ำท่วมได้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น

-แผนที่ความเสี่ยงภัย

โดยมีการแบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความเสี่ยงสูง (แดง) ความเสี่ยงปานกลาง (ส้ม) และความเสี่ยงต่ำ (เหลือง) โดยประเมินความเสี่ยงภัยจากข้อมูลระดับน้ำที่เคยท่วมในอดีตจากหลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลทุติยภูมิ ร่วมกับการสำรวจข้อมูลปฐมภูมิประเภท/รูปแบบอาคาร ที่มีความเสี่ยงภัย นอกจากนี้ ยังมีการประชุมระดมสมองกับชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้การประเมินความเสี่ยงภัยและการยอมรับความเสี่ยงของชุมชนเอง

-แผนที่ความเปราะบาง

โดยมีการระบุตำแหน่งของกลุ่มเปราะบาง (คนชรา เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย ผู้พิการ ฯลฯ) ที่ต้องการความช่วยเหลือแบบเฉพาะลงในแผนที่ พร้อมระบุข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น บ้านเลขที่ หมายเลขติดต่อ ฯลฯ เพื่อให้สะดวกในการใช้แผนที่ประกอบการกู้ภัยและการเยียวยา

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ  Environmental Research Institute l Chulalongkorn University


ชมคลิปน่าสนใจ

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน