วิทยาลัยชุมชน...ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อปวงชน

by ชาคริต โภชะเรือง @1 พ.ย. 52 13:22 ( IP : 114...112 ) | Tags : บทความ

ด้วยแนวคิดพื้นฐานของวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อีกทั้งธรรมชาติของวิทยาลัยชุมชนจะต้องออกแบบระบบการศึกษาให้ผู้เรียนได้มี โอกาสเข้าถึงมากที่สุดในระดับชุมชน และวิชาที่เปิดสอนตอบสนองความต้องการของชุมชนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม กำหนดนโยบายโดยชุมชนผ่านคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนในการเปิดและปิดหลักสูตร รวมทั้งการสนับสนุนโดยชุมชนในรูปแบบต่างๆ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้คำจำกัดความถึงคำว่าชุมชน ว่าหมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สมาคม มูลนิธิ หรือการรวมตัวของชุมชนในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการของวิทยาลัยชุมชนได้หลายรูปแบบ ซึ่งองค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายของเขามีหน้าที่จัดการศึกษาและส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม 2545 ได้กำหนดให้ อปท.มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาและสนับสนุนระบบการศึกษาในระดับต่างๆ ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เด็กเล็ก ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงวิทยาลัยชุมชน เพราะฉะนั้น การไปของบประมาณสนับสนุนจาก อปท.มาสนับสนุนวิทยาลัยชุมชนนั้นไม่ผิดกฎหมาย ในการเปิดหลักสูตร วิทยาลัยชุมชนมีหน้าที่ต้องหารือขอความเห็นจาก อปท.ด้วย เพราะ อปท.อยู่ได้ด้วยประชาชน จึงมีความจำเป็นที่วิทยาลัยชุมชนจะต้องทำงานใกล้ชิดกับ อปท. จึงจะตอบสนองความต้องการพัฒนาของท้องถิ่นได้โดยไม่ละเลยระบบการบริหารราชการ ของการปกครองส่วนภูมิภาค และในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่จัดทำขึ้นควรตอบสนองต่อความ ต้องการของชุมชนในจังหวัด

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวถึงปรัชญาการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนว่า เป็นการจัดการศึกษาของประชาชน โดยประชาชนเป็นคนกำหนดนโยบายและเสนอผ่านสภา การบริหารจัดการโดยประชาชน และสนองต่อความต้องการของชุมชน และมีปริมณฑลที่รับผิดชอบชัดเจน และวิทยาลัยชุมชนยังเป็นสะพานเชื่อมโยงต่างๆ คือ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตรงนี้มีความสำคัญ เป็นการเปิดโอกาสให้แก่นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้ามาศึกษาต่อ ระดับอนุปริญญา และระดับปริญญาตรี เด็กที่จบมัธยมปลายที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลความจำ เป็นของครอบครัว การมีวิทยาลัยชุมชนเป็นการให้โอกาสให้เด็กได้เรียนโดยไม่ต้องเข้าเมือง

นอกจากนี้ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการฝึกอบรมกับการทำงาน และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างหลักสูตรกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและ เศรษฐกิจ ที่สำคัญ หลักสูตรมีความเคลื่อนไหว เนื่องจากสามารถเปิดและปิดได้ตามความต้องการของชุมชน โดยการประสานงานกับคนในชุมชน เข้าไปคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารระดับจังหวัด หรือผู้นำชุมชน ว่าต้องการกำลังคนในรูปแบบใด วิทยาลัยชุมชนก็จะเปิดหลักสูตรให้ไม่ว่าจะเป็นระดับอนุปริญญา หรือหลักสูตรระยะสั้น ถ้าหลักสูตรใดไม่มีคนเรียนก็ต้องปิด การเปิดปิดหลักสูตรต้องเร็ว เพื่อนำวัสดุอุปกรณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ ไปใช้ในหลักสูตรอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่สม่ำเสมอ

จุดเด่นที่สำคัญของวิทยาลัยชุมชน ก็คือ อาสาสมัครที่เข้ามาบริหารสภา อาจารย์ที่มาช่วยสอนหนังสือ ก็มาด้วยใจและความศรัทธา ตั้งแต่ปี 2545 ที่ตั้งตัวมาได้และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ แต่การสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีต่อวิทยาลัยชุมชนนั้นก็มีมาก การศึกษาในสถาบันอื่นไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากภาคประชาชนมากเท่านี้ และอีกอย่างคือ การรู้สึกเป็นเจ้าของ ตลอดจนครูอาจารย์ที่ทำงานหลังฉาก เป็นพลังสำคัญมาก เป็นปัจจัยบวกทำให้วิทยาลัยชุมชนผ่านพ้นอุปสรรคและอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน