มูลนิธิชุมชนสงขลาฟื้นวิถีพัฒนาเมือง "พลเมืองร่วมสร้าง"
รายการสมัชชาออนแอร์ 19 ธันวาคม 2552 ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ FM88.0 MHz ดำเนินรายการโดย บัญชร วิเชียรศรี และ อรุณรัตน์ แสงละออง ได้เชิญกรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา ได้แก่ ชิต สง่ากุลพงศ์ ประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา ชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ กรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา ชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา ชัยวุฒิ เกิดชื่น สุวรรณี เกิดชื่น ตัวแทนภาคสื่อ ตัวแทนจากหาดใหญ่เคเบิล ภูเบศ แซ่ฉิน เป็นต้น
สงขลาจังหวัดมีรากฐานทุนทางสังคมมากมายทั้งที่เป็นทุนภูมิปัญญาดั้งเดิมจากความพยายามในการสร้างบ้านสร้างเมืองของบรรพบุรุษ และภูมิปัญญาสมัยใหม่อันเนื่องมาจากความเจริญทางการศึกษา การค้า การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา ซึ่งหากสามารถเชื่อมประสานให้ทุนทั้งสองมาร่วมในกระบวนการพัฒนาจังหวัดสงขลาแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงได้แล้ว ก็น่าจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ของการพัฒนาขึ้นที่จังหวัดสงขลาอันเป็นที่รักของเราชาวสงขลา
และจากรากฐานที่เข้มแข็งดังกล่าว ส่งผลให้สังคมสงขลาเจริญเติบโตนำในด้านต่างๆมากมาย เช่นเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจการค้า การลงทุน ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยว เมื่อมีถนน รถไฟ ทะเล เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และมีสนามบินนานาชาติขึ้นที่หาดใหญ่ ก็เท่ากับเป็นการเชื่อมช่องทางในการไปมาหาสู่ระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ทำการค้าขายกันได้ง่ายขึ้น ประกอบกับสงขลายังมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ครบถ้วนสมบูรณ์แห่งหนึ่งในโลก เหตุปัจจัยเหล่านี้คือที่มาของความเจริญเติบโตของสงขลา
ขณะเดียวกัน ในแง่องค์กรทุนในจังหวัดสงขลา ที่อยู่ในฐานะผู้ให้ทุน และผู้ให้ความช่วยเหลือสังคม มีอยู่เป็นจำนวนมาก หากนับเฉพาะองค์กรที่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ทั้งที่จดทะเบียนในจังหวัดสงขลา และจดทะเบียนที่อื่น แต่มีปฏิบัติการในจังหวัดสงขลา จากการรวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พบว่ามีมากถึง 263 มูลนิธิ
“กล่าวเฉพาะการศึกษา เรามีเรามี 5 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ , มหาวิทยาลัยทักษิณ , มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย , มหาวิทยาลัยหาดใหญ่” ชิต สง่ากุลพงศ์ ประธานมูลนิธิชุมชนกล่าว
นอกจากนั้นแล้วยังรวมโรงเรียนมัธยมมีชื่อมากมาย อาทิ โรงเรียนมหาวชิราวุธ เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกของสงขลา โรงเรียนวรนารีเฉลิม โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ โรงเรียนแสงทองวิทยา (เป็น"โรงเรียนฝรั่ง") โรงเรียนธิดานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิง โรงเรียนหาดใหญ่อำนวยวิทย์ เป็นต้น
ฟื้นประวัติศาสตร์ราษฎรสร้างเมือง
ชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ กรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวว่า หากมองความเป็นสงขลา หาดใหญ่เป็นเมืองที่มีปริมาณเงินฝาก ปริมาณสินเชื่อและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์มากที่สุด รองจากกรุงเทพฯ เป็นดัชนีทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยเมืองหาดใหญ่ มีความเจริญมาไม่นาน ราว 90 ปี ความเจริญมากับเส้นทางรถไฟสายใต้ ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเมืองหาดใหญ่คือ ขุนนิพัทธ์จีนนคร(ชื่อจีนคือเจียกีเซีย) และซีกิมหยง ซึ่งทั้งคู่ร่วมกันมารับจ้างสร้างรางรถไฟ เพราะสมัยนั้น คนไทยหรือชาวบ้านแถบนี้มีนามีสวน ไม่ยอมมาทำงานนี้ จึงดึงแรงงานจีนมาทำ โดยมีแรงจูงใจว่า มาทำงานที่หาดใหญ่จะมีบ้านอยู่ มีรายได้
“นับว่าขุนนิพัทธ์จีนนคร เป็นนักจัดสรรรายแรกของหาดใหญ่ มีเพื่อนอย่างชีกิมหยงที่บริจาคที่ดินให้มิชชันนารีจากอิตาลีสร้างโรงเรียนแสงทองและธิดานุเคราะห์จึง เป็นจุดเริ่มต้นของหาดใหญ่ ที่มีหลายอย่างตามมา ต่อมาคนจีนทุกแซ่จึงหลั่งไหลมาหาดใหญ่เพราะมีงานทำมีบ้านอยู่ลูกหลานมีที่เรียนหนังสือ” ชัยวุฒิเล่า หลายอย่างที่เกิดขึ้นจากการมาอยู่ของคนจีน หมายรวมถึงชมรม สมาคม ชาวจีนจำนวนมากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อมาอยู่รวมกันมากขึ้นๆขุนนิพัทธ์จีนนครก็สร้างมูลนิธิอนาถาเพื่อดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วยและคนชราต่อมาซีกิหยงก็บริจาคให้มิชชันนารีสร้างโรงพยาบาลมิชชั่น การอยู่ร่วมกันไม่เกิดการผูกขาดว่าคนกลุ่มไหนจะเป็นผู้นำ และจากการที่ขุนนิพัทธ์จีนนคร ดูแลหมดทุกเรื่องรวมไปถึงการทหาร ทำให้เกิดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ระหว่างรัฐกับเอกชน ในการมาดูแลเมือง
“มองถึงประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาเองพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ ทุ่งระโนดปลูกข้าวพอเลี้ยงกองกำลังทหารจำนวนมาก เดิมเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า เกิดการเปลี่ยนแปลงสมัยพระเจ้าตากสิน ที่ยกทัพมาตีเมืองสงขลา เพราะสงขลาไม่ยอมส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปสวามิภักดิ์กรุงธนบุรี ทำให้สงขลาแตก” ชัยวุฒิเล่า และว่าประวัติศาสตร์ ความเป็นหัวเมืองที่ถูกพัฒนายังดำเนินต่อมา ระหว่างเมืองสงขลากับหาดใหญ่ เคยมีรางรถไฟเชื่อมต่อ แต่ได้หายไปอย่างน่าเสียดาย ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงระบบรางกลับมาอีกครั้ง และเห็นว่าเมืองหาดใหญ่ เป็นเมืองท่องเที่ยว มีศักยภาพทางการเงินพอที่จะทำเรื่องนี้ได้
หลังยุคปลูกข้าวซึ่งเลี้ยงคนได้ทั้งหมด ชาวสงขลาหันมาปลูกยางพารา หลังจากนั้นเป็นยุคของเหมืองแร่ดีบุก อุตสาหกรรมอาหารทะเล และ ยุคการท่องเที่ยว
โอกาสอย่างหนึ่งของเมืองหาดใหญ่มาจากคนจำนวนมาก ที่มีความหลากหลาย เข้ามาอยู่ อันนี้นับเป็นทุนสำคัญ
คุณภูเบศ แซ่ฉิน ตัวแทนชมรมคอมพิวเตอร์ นักธุรกิจมองว่าเมืองหาดใหญ่ มีความหลากหลาย กล่าวเฉพาะคนจีนอพยพ ธรรมชาติของคนที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองอย่างหนึ่งคือ การเกาะกลุ่มกันอยู่ โดยคนที่มาทำการค้า ได้มีการตั้งวงแชร์ เพื่อช่วยเหลือกันทางด้านการเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ย แค่ผลัดกันจ่ายเงิน เพื่อนำไปทำธุรกิจ นับเป็นหนึ่งในรูปแบบ ที่เกื้อกูลกัน
“ต่อมามีการจัดตั้งสมาคมคนจีน ชาวจีนในหาดใหญ่ มีหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งแต้จิ๋วไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะ (ฮากกา) ซึ่งยังแบ่งออกเป็นแคะแท้ กับแคะที่มาจากชนบท ในการตั้งสมาคม ก็มีการตั้งคนมาทำงาน ที่มีความเชื่อมโยงกับคนจีนที่อื่น อย่างในกรุงเทพฯ”
นั่นทำให้เห็นว่า คนจีนเกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกัน วัฒนธรรมที่เด่นชัด คือการตั้งวงแชร์ เพื่อทำการค้า แล้วพัฒนามาสู่การจัดสวัสดิการให้สมาชิก ชวยเหลือกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย กระทั่งงานศพ การช่วยเหลือกันนั้นเกิดจากความสมัครใจ ไม่กะเกณฑ์ คนที่มีความพร้อมมากก็จะช่วยมาก หรือเสียสละในการดำเนินการอะไรสักอย่างหนึ่งเน้นจิตใจช่วยเหลือกันมากกว่า ต่างกับปัจจุบัน ที่จะทำอะไร แล้วทุกคนต้องช่วยกันอย่างเสมอภาค
บทบาทสมาคมจีนในยุคต่อๆมา ยังเข้าไปดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น ทางการศึกษา อย่างเช่น การให้ทุนการศึกษา ซึ่งยังดำเนินสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
ในจังหวัดสงขลานับได้ว่า เป็นพื้นที่ ที่มีสมาคมจีนมากที่สุด เกิดมาจากคนจีนที่เข้ามาอยู่อย่างหลากหลายนั่นเอง ส่งผลทางวัฒนธรรมอื่น อย่างเช่น อาหารจีนในหาดใหญ่ ซึ่งนับว่าหลากหลายที่สุดของประเทศไทย
“หาดใหญ่แทบไม่ต้องทำอะไร แค่เป็นศูนย์กลางอาหารจีนก็เพียงพอแล้ว”
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนที่มาจากแดนไกลจากเมืองจีน คือหาเงินเพื่อส่งกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านเมืองจีน การเกื้อกูลกันในกลุ่มจึงมีสูง พราะถือว่าเป็นพื้นฐายที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่จากบ้านจากดเมืองมาด้วยกัน ในการรวมตัวกัน ถามข่าวคราว กรณีการกดขี่ข่มเหงกัน พบว่าเป็นธรรมชาติที่จะมีมากน้อยตามยุคสมัย อย่างการยอมรับคนจีนที่ยังน้อย คำว่า “ลูกเจ๊ก” ยังเป็นคำแสลงหูมาต่อเนื่องยาวนาน แม้จะคลี่คลายมาเป็นลำดับ
ชัยวุฒิ บุญวิวัฒนนาการ เล่าว่า ความเป็นอยู่ของจีนในหาดใหญ่ คงไม่ต่างที่ที่อื่น ซึ่งสมัยหนึ่งจะถูกเพ่งเล็งทางการเมือง มีการกวาดล้างเป็นระยะ บางคนต้องหนีภัยทางการเมือง อย่างกลุ่มของโรงเรียนศรีนคร ก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ การถูกปราบปราม การรังแกจากภาครัฐมีเป็นระยะ ลักษณะอย่างหนึ่งของคนจีนที่นี่ จึงรู้การเว้นระยะห่างทางการเมือง พอสมควร ไม่มีการพูดเรื่องการเมืองในสมาคมจีน
ชัยวุฒิ เกิดชื่น นักจัดรายการวิทยุ กล่าวเสริมว่า ศิลปะในการอยู่รอดอย่างหนึ่งของคนจีนหาดใหญ่สมัยก่อนคือการไม่พูดเรื่องการเมือง
“ผมนั่งวงแชร์ในหาดใหญ่มาตลอด และมองว่า วงแชร์นี่เอง เป็นการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่ง”
สุวรรณี เกิดชื่น เสริมว่า หลังจบการศึกษามาใหม่ มาทำรายการวิทยุ ไม่มีเงิน ตั้งใจซื้อเวลาที่สถานีวิทยุของมอ.ได้เข้าร่วมวงแชร์ ซึ่งมือละ 2,000 บาท ได้เงินมาทำรายการ ทำคลื่นวิทยุครั้งแรก พบว่าสำหรับคนหาดใหญ่ การได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว มีความสำคัญ ถือว่านี่เป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างคนจีนและคนไทย
“การขอความร่วมมือ การมีส่วนร่วม ในเรื่องต่างๆจึงเป็นส่วนสำคัญ ผิดกับยุคปัจจุบันที่ กลายเป็นว่าต่างคนต่างทำ แต่ก่อนนั้น การจัดรายการวิทยุ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ต้องไปร่วมด้วยทุกงานตั้งแต่เปิดสะพานลอย บวช แต่งงาน บทบาทไม่ได้จำกัดแค่จัดราบการวิทยุ แต่คือการลงไปยังชุมชน ไปพบคน เพราะสื่อสมัยน้นให้ความสำคัญกับคน”
ชัยวุฒิ เกิดชื่น กล่าวต่อว่า สำหรับคนทำสื่อ จะมีการอบรมสั่งสอนต่อกันมาว่าพูดถึงคนเดือดร้อนแล้วจะทำอะไร ไม่ใช่เรื่องของการอยากดัง สื่อต้องพร้อมเอาตัวไปช่วยชาวบ้านทุกเรื่อง
ชัยวุฒิ บุญญวิวัฒนาการ กล่าวว่า หลังสร้างทางรถไฟเสร็จ ขุนนิพัทธ์จีนนครก็นำคนงานแปรสภาพไปทำแร่ดีบุกและแร่ดีบุกก็นำคนจีนในมาเลเซียเข้ามาค้าขายในหาดใหญ่ ต่อมาผลพวงจากการร่วมมือกับอเมริกาปราบปรามคอมมิวนิสต์ ส่งผลมาถึงสินค้าจากจีนที่มาขึ้นท่าเรือปีนังในมาเลเซีย เป็นส่วนให้เกิดตลาดสินค้าหนีภาษี ที่ปาดังเบซาร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ตามมามีผลต่อการค้าขายที่คึกคัก คนหลั่งไหลเข้ามาเป็นระยะ หาดใหญ่กลายเป็นชุมทางรถไฟ รถยนต์ และทางอากาศ พอมีสินค้าหนีภาษีเข้ามาอีกก็ทำให้ขยายตัวมากขึ้น
คุณภูเบศ แซ่ฉินเสริมขึ้นว่า แต่เดิมโรงแรมในหาดใหญ่มีน้อยมาก สมัยนั้นใครมีเพื่อนเป็นเจ้าของโรงแรมถือว่าเจ๋งมาก เพราะสามารถจองห้องพักได้
โรงแรมยงดี ที่เปิดตัวด้วย ตึก 9 ชั้นสร้างความฮือฮาได้มากเพราะเป็นตึกที่สูงที่สุดในหาดใหญ่ขณะนั้น ชาวหาดใหญ่ แห่ขึ้นไปเที่ยวบนตึก ว่าตึกสูงเป็นอย่างไร เห็นวิวจากมุมสูงหาดใหญ่ทั้งเมืองครั้งแรก ก็ที่โรงแรมแห่งนี้ แต่ปัจจุบันโรงแรมยงดี ก็ถือว่าไม่ใช่โรงแรมขนาดใหญ่อีกต่อไปแล้ว
ชัยวุฒิ –สุวรรณี เกิดชื่น เล่าว่า ความสัมพันธ์ของคนหาดใหญ่รุ่นก่อนที่ ยึดตัวบุคคลเป็นหลัก เห็นได้จากเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ยังมีธุรกิจใดมาถอนโฆษณาวิทยุ เหล่านี้ ถือว่าเป็นการเกื้อกูลกัน แต่ทุกวันนื้ ได้ให้ความสำคัญกับการขายสินค้าอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจในตัวคน
“อยากมองว่า หาดใหญ่เป็นสมาคม ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ ทำไมเราไม่กลับไปหาจุดเด่น ที่เราเคยมี”ชัยวุฒิ เกิดชื่นกล่าว
ร่วมคิด ร่วมทุน ร่วมทำ
ชิต สง่ากุลพงศ์ ประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวว่า ตนเองมองทุนของของจังหวัดสงขลาคือความหลากหลาย ความปรารถนาดีที่มีต่อกัน นับเป็นทุนสำคัญของชุมชน สำหรับมูลนิธิชุมชนสงขลา เพิ่งได้คุยกับ 5 อธิการบดี ในจังหวัดสงขลา ซึ่งพร้อมจะทำงานร่วมกัน
“เมืองหาดใหญ่อยู่กันแบบที่ช่วยกันมาตลอด ถ้าฟื้นรูปแบบนี้กลับมา เพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะถือว่าเกิดประโยชน์มาก”
ภาครัฐมีข้อจำกัดมาก จากการได้ไปดูงานในหลายที่ทั้งในและต่างประเทศ ได้แนวคิดว่า การทำงานแบบประสานความร่วมมือ องค์กร ต่างๆ การทำงานร่วมกัน แบบมีส่วนร่วม เป็นโอกาสที่ดีของการพัฒนา ซึ่งมูลนิธิชุมชนสงขลาได้ยึดแนวการทำงานตามแบบดังกล่าว และกำลังไปได้ดี ขณะเดียวกันคงต้องคิดหาหลักและสูตรของการทำงานที่เหมาะสม เพราะส่วนมาก องค์กรต่างๆ ยังผูกติดอยู่กับ การบริหารสองส่วนของภาครัฐ กับธุรกิจ ส่วนองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไร ยังไม่มีตัวแบบชัดในบ้านเรา ซึ่งองค์กรไม่มีแสวงกำไร มุมหนึ่งก็จำเป็นต้องมีการทำตลาด ระดมทุน แสวงหาความร่วมมือ ในลักษณะ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว แม้จะมีความแตกต่าง แต่ไม่มีความแตกแยก เรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจของคนส่วนใหญ่
“ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ที่เราจะเริ่มต้น อย่างมูลนิธิชุมชนสงขลาเราเปิดกว้างสำหรับทุกคนจะมาร่วมกันทำงาน ฟื้นวัฒนธรรมและคนหาดใหญ่แบบเดิมที่ช่วยกัน ผ่านวงคุยที่จะดำเนินต่อไป”
ตัวแทนจาก หาดใหญ่เคเบิ้ลทีวี กล่าวว่า กับสถานศึกษา อยากร่วมทำงานด้านเนื้อหา เพื่อสื่อออกไป ซึ่งทางตนเองพร้อมเกื้อกูล ที่ผ่านมา ได้รับเป็นสถานที่ฝึกงานให้นักศึกษาอยู่แล้ว โดยเน้นการฝึกงานจริง ให้ทำงานได้จริง ไม่ใช่การมาเพื่อรับใบรับรอง
ปีหน้า ท้องถิ่นจะทำทีวีให้ชาวสงขลาทุกกลุ่มได้ดู ในส่วนที่เป็นสิ่งดีๆ มีประโยชน์ต่อสังคม เปิดช่องใหม่ๆ เช่นวิทยาศาสตร์ การ์ตูนสร้างสรรค์สำหรับเด็ก สารคดี ท่องเที่ยวกลางแจ้ง ข่าวสารคดี รูปแบบใหม่ ที่พร้อมเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน องค์กร ด้านสื่ออินเตอร์เนท ไม่มีกำไร หลายคนก็พยายามทำเพื่อคนหาดใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างเช่นเทศบาลนครหาดใหญ่ /การท่องเที่ยว
ชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวว่า น่าจะนำองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัย ถ่ายทอดสู่ชุมชน อาจเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต หรือความรู้ทางอากาศ ถ้าสามารถทำได้จะเป็นการกระจายองค์ความรู้ มากมายออกไป ในแง่สื่อจะส่งต่ออีกไปได้มาก ทำอย่างไร จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ ในสถาบันการศึกษา ที่ยังใช้งานได้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดเต็มที่ ออกไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน
ภูเบศ แซ่ฉิน มองว่ายุคโลกาภิวัตน์ คนท้องถิ่นไม่มีเวทีแสดงออก เนื่องจากความทันสมัยของระบบการสื่อสาร ทำให้กระแสหลักเข้าไปอยู่ส่วนกลาง กลายว่าเมืองหลวงเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องสร้างเวทีท้องถิ่นให้มากขึ้น
“หาดใหญ่ เรามีคนเก่งในสาขาต่างๆ เยอะ แต่กลับไปอยู่ในกรุงเทพฯหมด คนท้องถิ่นจะไหลเข้าส่วนกลาง เพราะไม่มีเวทีในท้องถิ่น”
บัญชร วิเชียรศรี กล่าวตอนท้ายว่า เดิม คนคิดว่าหาดใหญ่ไม่ใช่บ้านเกิด แต่เป็นที่แสวงโชค แค่คนมาหาเงิน แล้วส่งกลับบ้าน ถึงเวลานี้ คนที่เกิดที่โตที่นี่ แต่ย้ายไปทำงานที่อื่น ไปหาเงินที่อื่นส่งกลับมาหาดใหญ่ แล้วคิดว่าสักวันหนึ่งตอนแก่จะกลับมาอยู่บ้านที่หาดใหญ่ ทำไมไม่ข้ามขั้นตอน โดยเอาคนหาดใหญ่ที่ไปอยู่ที่อื่นกลับมาอยู่หาดใหญ่ เสียตั้งแต่ตอนนี้เลย หาดใหญ่มีศักยภาพมากมาย
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสความคิดในการพัฒนาที่เกิดจากสำนึกความเป็นพลเมือง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่าด้วยสองมือของเราเอง ไม่เฉพาะเงินหรือสิ่งของที่จะบริจาค แต่กำลังกายกำลังปัญญาและการให้เวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์งานกับชุมชน ก็เป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งในการพัฒนา การพัฒนาที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของคนดีผู้มีปัญญาและจิตสาธารณะ หากความตื่นตัวในการร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยสองมือของเราทุกคน กลับมาสู่ชาวสงขลาอีกครั้งในอนาคต เชื่อได้ว่า “ สงขลาจะกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเมืองหนึ่งในโลก ”
หมายเหตุ : ในวันที่ 8 มกราคม 2553 เวลา 13.00-19.30 น. ณ สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมกับเครือข่ายสมาคม มูลนิธิในจังหวัด รวมถึง 5 มหาวิทยาลัย จัดเสวนาพิเศษสานพลังพลเมืองสงขลาร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อการพัฒนาสงขลาอย่างยั่งยืน ผลการเสวนาจะนำมาเสนอต่อไป.
Relate topics
- เข้าพรรษา ประชา+รัฐ ร่วมสร้างสวัสดิการ
- ทำธุรกิจอย่างเป็นมิตร สไตส์ “วิสาหกิจเพื่อสังคม”
- ความพอเพียงคืออะไร ใครตอบได้
- สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
- สรุปการสัมมนาเครือข่ายมูลนิธิชุมชน
- ผู้ให้กลายเป็นผู้รับ ผู้รับกลายเป็นผู้ให้
- วิทยาลัยชุมชน...ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อปวงชน
- รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลาครั้งที่ 4/2552
- เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน ตอนที่ 2
- การประชุมกรรมการบริหารมูลนิธิชุมชนสงขลาครั้งที่ 2/2552